Last updated: 21 ส.ค. 2562 | 4012 จำนวนผู้เข้าชม |
Reference: Microbiome Animation
Microbiota
จุลินทรีย์ที่อยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มีชนิดและจำนวนที่แตกต่างกันไปตามแต่ละอวัยวะ สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงอายุของการเจริญเติบโต ไมโครไบโอต้าตั้งต้นที่อาศัยในร่างกายเรานั้นได้ส่งผ่านจากแม่มาสู่ทารก โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในระบบทางเดินทางอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินปัสสาวะ รวมทั้งผิวหนังของทารก ได้รับจากแม่ทั้งก่อนและหลังคลอด เมื่อถึงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ทารกเริ่มกลืนน้ำคร่ำได้ จุลินทรีย์ในรกสามารถส่งต่อไปยังทารกในครรภ์ได้ การคลอดก่อนหรือหลังกำหนดคลอดจึงมีความสัมพันธ์ต่อชนิดของไมโครไบโอต้าในทารกแรกเกิดด้วย
ในร่างกายมนุษย์จะมีจุลินทรีย์หลากหลายสายพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกันเกิดเป็นชีวนิเวศจุลินทรีย์ (Microbiome) นักวิทยาศาสตร์ทางด้านจุลชีววิทยาได้พัฒนาวิธีการเพื่อจำแนกชนิดและบทบาทหน้าที่ของจุลินทรีย์ที่พบในอวัยวะต่างๆ ของร่างกายมนุษย์จนได้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถนำมาพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ กล่าวคือ ทำให้เราทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์กับสุขภาพของมนุษย์ ความเฉพาะของชนิดจุลินทรีย์ต่อบริเวณที่อยู่อาศัย รวมทั้งประโยชน์ที่ได้รับจากจุลินทรีย์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางด้านการแพทย์ ที่สามารถทำนายการเกิดโรคจากกลุ่มประชากรจุลินทรีย์ที่พบ นอกจากนี้จุลินทรีย์บางสายพันธุ์ยังมีประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิคุ้มกันอีกด้วย สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ บทบาทและกลไกของสารพันธุกรรม ชีวิตความเป็นอยู่ หรือแม้กระทั่งคุณลักษณะหรือสิ่งแวดล้อมของเจ้าบ้าน (Life style and Environment of Host) ที่จุลชีพอาศัยอยู่ ก็มีผลต่อการทำงานของจุลินทรีย์ด้วยเช่นกัน
ไมโครไบโอต้าที่มีความหลากหลายของชนิด หรือที่จำนวนที่แตกต่างกัน ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้แต่ละคนมีอัตราความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ที่ไม่เท่ากัน ความแตกต่างของไมโครไบโอต้าที่ผิวหนังมีผลต่อโรคผิวหนังและระบบภูมิคุ้มกันของผิวหนัง เช่น การเกิดสิว โรคสะเก็ดเงินชนิดเรื้อรัง โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังชนิดเรื้อรัง และ/หรือผื่นภูมิแพ้จากการสักลาย แผลที่ผิวหนังเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการศึกษาเพื่อให้เข้าใจถึงธรรมชาติของกลุ่มประชากรจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ จึงเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราสามารถคลี่คลายความสัมพันธ์ระหว่างจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์กับสุขภาพได้ ทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหา และป้องกันโรคหรือพยาธิสภาพที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ในแต่ละอวัยวะต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Reference:
- ชีวนิเวศจุลชีพในร่างกายมนุษย์
สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์*, อัฏฐารจ ชาวชน**, ขนิษฐา ชัยรัตนาวรรณ***, สมชัย บวรกิตติ**
- - Cho, I and Blaser, MJ. 2012. The human microbiome: at the interface of health and disease. Nature Reviews Genetics, 13: 260-270.
- Gritz, EC and Bhandari, V. 2015. The Human Neonatal Gut Microbiome: A Brief Review. Front Pediatr. 3: 17.
- Your Changing Microbiome [Internet]. [cited 2016 Mar 15]. Available from: http://learn.genetics.utah.edu/content/microbiome/changing