ความสำคัญของน้ำลายต่อสุขภาพในช่องปากและฟัน รวมไปถึงสภาวะของกลิ่นปากอันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ( Imbalance of Oral Microbiome )

Last updated: 11 ก.ค. 2563  |  4031 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ความสำคัญของน้ำลายต่อสุขภาพในช่องปากและฟัน รวมไปถึงสภาวะของกลิ่นปากอันเนื่องมาจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียในช่องปาก ( Imbalance of Oral Microbiome )

น้ำลายมีบทบาทสำคัญในการบำรุง รักษาและป้องกันสภาพโดยรวมในช่องปาก เพื่อให้เกิด Homeostasis of Oral Microbiome (สมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก) ซึ่งจะมีอิทธิพลต่อกลไกการเกิดโรคฟันผุ โรคเหงือก โรคปริทันต์ แผลเยื่อเมือกอ่อนในช่องปากต่างๆ และกลิ่นปากจากสารประกอบกำมะถัน โดยช่องปากถือเป็นด่านแรกและจุดเริ่มต้นของระบบทางเดินอาหาร คุณภาพและปริมาณของน้ำลายสามารถบ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพโดยรวมและสามารถพยากรณ์อุบัติการณ์ของโรคที่จะเกิดขึ้นในช่องปากและโรคทั่วร่าง ( Systemic Diseases ) ในแต่ละระบบโดยเบื้องต้นได้

น้ำลายที่อยู่ในต่อมน้ำลายนั้นปราศจากเชื้อ ต่อเมื่อถูกหลั่งออกมาในช่องปากแล้วจะถูกปนเปื้อนไปด้วยเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก สำหรับการอยู่รอดของจุลินทรีย์ในช่องปากนั้น จะต้องมีการยึดเกาะกับพื้นผิวต่างๆในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น ผิวฟันธรรมชาติ ผิวเนื้อเยื่ออ่อน หรือแม้กระทั่งผิวฟันปลอม ดังนั้นอัตราการไหลของน้ำลาย องค์ประกอบและปริมาณของน้ำลายในช่องปาก จึงมีอิทธิพลต่อจำนวนและระบบของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก และเป็นปัจจัยหลักหรือผลกระทบที่ทำให้เกิดโรคในช่องปากได้

ปริมาณน้ำลายต่อวันในมนุษย์.... โดยเฉลี่ยมีการศึกษารายงานว่าปริมาณน้ำลายถูกหลั่งอยู่ในช่วง 0.75 - 1.5 ลิตร/ วัน และเป็นที่ยอมรับว่าปริมาณน้ำลายจะมีการหลั่งที่น้อยลง หรือหยุดผลิตระหว่างการนอนหลับหรือในช่วงเวลากลางคืน จึงเป็นสาเหตุให้เมื่อตื่นนอนคนเรามักจะมีกลิ่นปาก และค่าความเป็นกรด-ด่างในช่วงเวลานี้มีค่า pH เป็นกรด ซึ่งเป็นปัจจัยเพิ่มโอกาสในการเกิดฟันผุได้ง่าย เพราะองค์ประกอบ(คุณภาพ)และปริมาณของน้ำลายลดลงในระหว่างนี้

น้ำลายมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ถ้าน้ำลายหลั่งน้อยลงจนเกิดภาวะน้ำลายแห้ง จะทำให้สารที่ป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียในช่องปากลดลง จึงเป็นเหตุให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และมีโอกาสเกิดฟันผุได้ง่ายขึ้น (Chambers et al., 2007) อาทิเช่น ภาวะสูงอายุ ยาที่มีผลลดการหลั่งของน้ำลาย โรคทางระบบ เช่น เบาหวาน โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำลายติดเชื้อ มะเร็งต่อมน้ำลาย ภาวะหลังการรักษามะเร็งที่ศีรษะและลำคออาจจะด้วยเคมีบำบัดหรือรังสีบำบัด ซึ่งจะมีผลต่อต่อมน้ำลาย เมื่อต่อมน้ำลายมีความผิดปกติ หลั่งน้ำลายได้น้อย ( Hyposalivation ) จะส่งผลให้เกิดสภาวะปากแห้ง ( Dry mouth/ Xerostomia ) หรือแม้กระทั่งการสัมผัสต่อสารเคมีระคายเคืองในช่องปากอยู่เป็นประจำ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปริมาณของน้ำลายลดลง เสี่ยงต่อโรคต่างๆในช่องปาก เช่น ฟันผุ โรคเหงือกและโรคปริทันต์อักเสบ แผลอักเสบในช่องปาก กลิ่นปากที่เกิดจากสารประกอบกำมะถัน และมีโอกาสติดเชื้อราในช่องปากได้ง่าย ดังนั้นน้ำลายไม่ใช่เป็นแค่ของเหลวธรรมดาๆ แต่เป็นของที่ถูกสร้างขึ้นจากร่างกายที่มีความสำคัญในแง่ของการปกป้อง ป้องกัน และช่วยฟื้นฟู สภาพที่เสียสมดุลไปในแต่ละวัน ซึ่งใน 1% ที่เป็นองค์ประกอบอยู่ในน้ำลายนั้น เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเกิดภาวะโรคต่างๆในช่องปาก ซึ่งรวมไปถึงโรคทั่วร่าง ( Systemic diseases ) ดังนั้นคุณภาพและปริมาณของน้ำลายตามธรรมชาติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อภาวะธำรงดุลในช่องปาก คือ มีกลไกในการปรับสภาวะตัวเอง (Self-regulation) ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารชีวโมเลกุลและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการปกป้องต่างๆในระบบ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคขัดขวางต่อวัฏจักรของสารชีวโมเลกุลและแร่ธาตุต่างๆในแต่ละกลไกที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะสมดุลในช่องปาก (Equilibrium/ Oral Biotope)

องค์ประกอบในน้ำลายนั้นอิ่มตัวไปด้วย แคลเซี่ยม-Ca2+ และ ฟอสเฟต-PO₄³⁻ อิออน ซึ่งสามารถเข้าไปเติมเต็มในโครงสร้างของผิวเคลือบฟัน ( Enamel ) จึงสามารถป้องกันการกัดกร่อนของผิวเคลือบฟันได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากโครงสร้างผลึก Hydroxyapatite ซึ่งเป็นผลึกโครงสร้างแข็งของฟัน จะถูกซ่อมแซมหรือชดเชยเมื่อมีปริมาณของ Hodroxyl-OH− และ Phosphate-PO₄³⁻ ion อย่างเพียงพอ ในสภาวะที่เป็นกลาง - ด่างอ่อนๆ แต่ถ้าในช่องปากมีสภาวะเป็นกรด ผลึกโครงสร้างแข็งเหล่านี้จะถูกกัดกร่อนออกไป น้ำลายจึงทำหน้าที่เป็นบัฟเฟอร์ให้ค่า pH สูงขึ้นจนมีค่า pH เป็นกลาง

อนึ่ง ..ในน้ำลายนั้นจะมีองค์ประกอบที่สามารถทำให้เกิด Self-defense ยกตัวอย่างเช่น การที่ในน้ำลายมีองค์ประกอบของไนเตรท ( NO3-inorganic nitrate) ซึ่งประกอบไปด้วยธาตุไนโตรเจน โดยแบคทีเรียที่หายใจโดยใช้ไนโตรเจนจะเปลี่ยนไนเตรทเปนไนไตร้ท์ ( NO2-nitrite) ซึ่งเมื่อไนไตร้ท์รวมตัวกันกับกรดที่เกิดจากแบคทีเรียก่อโรคในช่องปาก (Oral pathogens/ Cariogenic bacterias/ Keystone pathogens) จะได้สารที่เป็น Strong toxic ต่อแบคทีเรียที่ก่อโรคในช่องปากเหล่านี้ และจะถูกกำจัดออกไป ดังนั้นเมื่อปริมาณกรดในช่องปากน้อยลงจะส่งผลให้อุบัติการณ์ของการเกิดฟันผุน้อยลงตามไปด้วย ผลจาก Dual effect ในองค์ประกอบของน้ำลายประเด็นนี้ จึงสามารถช่วยลดปัจจัยที่สำคัญของการเกิดฟันผุลงไปได้อย่างมาก นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง สำหรับคุณประโยชน์ขององค์ประกอบในน้ำลายที่เอื้อต่อภาวะธำรงดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก โดยการควบคุมสภาวะภายในช่องปากจากการปรับสมดุลพลวัตหลายๆอย่าง ซึ่งมีกลไกการควบคุมที่มีความสัมพันธ์และเกี่ยวเนื่องกันมากมาย โดยระบบจะมีความสามารถในการทดสอบความผิดเพี้ยนที่ควรจะต้องถูกปรับแต่งเพื่อสุขภาพโดยรวมทั้งหมด (ทั้งระบบภายใน, ระบบโครงสร้าง, ระบบที่ทำหน้าที่ และระบบซ่อมแซม หรือการกู้กลับคืน - Recovery) เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ ( Function ) และดำรงชีวิตต่อไปได้ เนื่องจากถ้าระบบนั้นๆไม่สามารถรักษาสมดุลไว้ได้ มันจะส่งผลให้ระบบนั้นๆหยุดทำงานในที่สุด (นั่นก็คือ หยุดมีชีวิต หรือตายนั่นเอง) แต่ในแง่ของระบบโดยรวมของสภาวะในช่องปาก คือ จะไม่ทำให้เกิดการเสื่อมสลายของฟัน อวัยวะปริทันต์ และเนื้อเยื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องต่างๆ เช่น การเกิดโรคฟันผุ โรคปริทันต์ แผลในช่องปาก กลิ่นปากอันเนื่องมาจากสารประกอบกำมะถัน และอื่นๆ ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้น ( Focal of Infection ) ของความเกี่ยวเนื่องกันกับโรคทั่วร่าง ( Systemic disease ) ต่อไปแบบเป็นลูกโซ่

References:

+ Saliva and oral health
an essential overview for the health professional
fourth edition
Michael Edgar, Colin Dawes & Denis O’Mullane

+ Fascinating facts about saliva
August 9, 2011
By Linda Douglas, RDH

+ Saliva between normal and pathological. Important factors in determining systemic and oral health
Gabriela Iorgulescu, J Med Life. 2009 Jul-Sep; 2(3): 303–307.

 

Medical photo created by freepik - www.freepik.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้