Last updated: 9 ม.ค. 2563 | 4558 จำนวนผู้เข้าชม |
กลไกในการป้องกันการบุกรุกจากเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่เยื่อบุผิวในช่องปาก มีอยู่ ๓ รูปแบบ คือ
๑. โดย Physical barrier ของชั้นเยื่อบุผิว ร่วมกันกับภูมิคุ้มกันเฉพาะที่ ที่มีอยู่ในน้ำลาย
๒. จากเซลล์เม็ดเลือดขาวชื่อ Neutrophils เป็นหลัก
๓. จาก Epithelial Antimicrobial Peptides-AMPs ที่ทำงานสัมพันธ์กันระหว่างเยื่อบุผิวและระบบน้ำเหลือง
ซึ่งจะคล้ายๆกันกับที่ผิวหนัง
สำหรับในส่วนของเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์นั้น ถ้าเปรียบระบบภูมิคุ้มกันคือทหาร คอยปกป้องร่างกาย "เปปไทด์ต้านจุลินทรีย์" ก็เหมือนเป็นอาวุธประจำของทหาร .. เปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ (Antimicrobial Peptides-AMPs) ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันด่านแรกที่สามารถทำลายเชื้อจุลินทรีย์ หรือสิ่งแปลกปลอมที่มีประสิทธิภาพ และมีเป้าหมายในการทำลายเชื้อที่ต่างจากยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันเรียกเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ว่า “Natural Antibiotics” เนื่องจากเป็นเปปไทด์ที่สร้างได้จากสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถแสดงฤทธิ์ทางชีวภาพที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างยิ่งในการพิจารณาและประยุกต์ใช้เปปไทด์เหล่านี้ในการรักษาโรคต่าง ๆ ความสามารถในการต้านเชื้อแบคทีเรียถือเป็นคุณสมบัติหลักของเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ในการปกป้องร่างกายจากเชื้อแบคทีเรียก่อโรคต่าง ๆ จากสิ่งแวดล้อม สำหรับสิ่งมีชีวิตประเภทสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น การสร้างและผลิตเปปไทด์เหล่านี้อาจสร้างได้จากเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบ (inflammatory cells) ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีอยู่ในระบบภูมิคุ้มกัน และเซลล์เยื่อบุผิวต่างๆ (epithelial cells) นอกจากนี้ยังพบว่า ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของเปปไทด์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกันไปตามชนิดของเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย ในปัจจุบันเปปไทด์ที่มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียเป็นเปปไทด์กลุ่มใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับฤทธิ์ทางชีวภาพด้านอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดการวิวัฒนาการของเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งแวดล้อม จึงทำให้เกิดเปปไทด์หลายชนิด เปปไทด์ดีเฟนซิน(defensin) ถือว่าเป็นเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพหลากหลาย นอกเหนือจากความสามารถในการต้านเชื้อแบคทีเรียแล้ว เปปไทด์ชนิดนี้ยังสามารถต้านไวรัสได้ด้วย นอกจากนี้ เปปไทด์ต้านจุลินทรีย์บางชนิดยังสามารถต้านเชื้อรา ต้านปรสิต และแม้แต่มีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็ง
ยิ่งไปกว่านั้นเปปไทด์ต้านจุลินทรีย์ยังมีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น การลดระดับของการผลิตสารสื่อการอักเสบ (pro-inflammatory cytokines) การตอบสนองจากสัญญาณโมเลกุลของเชื้อจุลินทรีย์ การควบคุมการแสดงออกของเคโมไคน์ (chemokine) รวมถึงสารก่อปฏิกิริยาการอักเสบ เช่น ไนตริกออกไซด์ กระตุ้นกระบวนการพัฒนาทางกายภาพของเส้นเลือด เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาแผล ช่วยควบคุมสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากและเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคในช่องปาก เช่น โรคฟันผุ โรคเหงือก-โรคปริทันต์ ฯลฯ กระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว และควบคุมการเปลี่ยนแปลงของเซลล์มาโครฟาจ (macrophage) และลิวโคไซต์ (leukocytes) เป็นต้น เปปไทด์ต้านจุลินทรีย์จริงๆแล้วเป็นระบบภูมิคุ้มกันแบบสืบทอดแต่กำเนิดของเซลล์ชนิดต่างๆ(innate immunity) ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในการต่อสู้หรือรักษาการติดเชื้อที่จะเข้าสู่ร่างกาย โดยภูมิคุ้มกันแบบสืบทอดแต่กำเนิดจะมีการตอบสนองที่รวดเร็ว ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค(pathogens)ได้หลากหลายชนิด แต่จะไม่ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ดีและมีประโยชน์(normal flora)
Reference:
- Periodontal disease and gingivitis, https://mpkb.org/home/diseases/periodontal
- เปปไทด์ต้านจุลชีพในสัตว์เลื้อยคลาน, รศ. ดร. สมปอง คล้ายหนองสรวง, มหาวิทยาลัยขอนแก่น
23 ม.ค. 2563
3 มี.ค. 2562