สมุนไพรไล่ยุงและแมลง จากธรรมชาติ ไร้สารเคมี

Last updated: 21 ส.ค. 2562  |  3545 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สมุนไพรไล่ยุงและแมลง จากธรรมชาติ ไร้สารเคมี

ยุงที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 436 ชนิด ในจำนวนนี้มีเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นพาหะแพร่เชื้อโรคในเขตร้อน เช่น ยุงลาย (Aedes aegypti L.) เป็นพาหะสำคัญในการแพร่เชื้อโรค ไข้เลือดออก (dengue และ dengue hemorrhagic fever) ยุงบางชนิดจะสร้างความรำคาญจากการดูดเลือดของยุงเพศเมีย เช่น ยุงรำคาญ (Culex quinquefasciatus) ซึ่งพบได้ทั่วทุกหนทุกแห่งของประเทศไทย (Ruttanarithikul, 1994 อ้างโดย มานิตย์, 2543) การระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ได้มีรายงานมากว่า 40 ปี โดยมีรายงานครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2501 และมีการระบาดครั้งใหญ่ที่มีรายงานในประเทศไทย พบในช่วงปี พ.ศ. 2530 มีจำนวนผู้ป่วยทั้งสิ้น 174,285 ราย เสียชีวิต 1,007 ราย (อุษาวดี, 2545) ในปี พ.ศ. 2549 มีจำนวนผู้ป่วย 46,829 ราย เสียชีวิต 59 ราย
และวันที่ 1 มกราคม - 20 เดือนตุลาคม ปี 2550 มีจำนวนผู้ป่วย 51,416 ราย จำนวนผู้เสียชีวิต 63 ราย (สำนักระบาดวิทยา, 2550)

การกัดของยุงก่อให้เกิดความเจ็บปวด ผิวหนังอักเสบ อาการคัน เกาจนเป็นบาดแผล ทำให้เกิดโรคผิวหนังติดเชื้อรอยดำหรือแผลเป็นตามมา นอกจากนี้ยังเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญในประเทศเขตร้อนอย่างบ้านเรา การใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการป้องกันยุงอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและเกิดการสร้างความต้านทานของยุงได้

ในทุกปีประเทศไทยจะมีผู้ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาจากยุงมีหลายวิธี โดยนิยมใช้สารเคมีจำพวก DEET ซึ่งทำให้ยุงที่รอดชีวิตเกิดการต้านทานต่อสารเคมีสังเคราะห์ และกำจัดได้ยากขึ้น ผู้ใช้สารอาจเกิดอาการแพ้ อาการทางสมอง ชัก และเสียชีวิตได้ (ชวนพิศ และคณะ, 2548) ดังนั้นการใช้สารอื่นที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและกำจัดยุงที่มีความปลอดภัยและไม่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสารที่ได้จากธรรมชาติจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ดังนั้นสารสกัดจากพืชสมุนไพรไทยจึงเป็นทางเลือกใหม่ โดยเฉพาะในสมุนไพรไทยที่มีสารในกลุ่มโมโนเทอร์ปีน และเซสควิเทอร์ปีน ซึ่งมีฤทธิ์ป้องกันยุงกัดได้ อย่างเช่น สมุนไพรข่าเล็ก สมุนไพรสะเดา เป็นต้น ในส่วนของสมุนไพรข่าเล็กจึงเป็นสมุนไพรตัวใหม่ที่มีฤทธิ์ในการป้องกันยุงลายบ้านและยุงรําคาญกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถป้องกันยุงได้นานกว่าสมุนไพรตัวอื่นๆ และยังไม่มีรายงานการพบอาการผื่นแพ้สัมผัสหรือผื่นแพ้ระคายเคืองแต่อย่างใด จึงสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย

References:

- อ้างอิงจากบทความวิจัย: ประสิทธิภาพของสารสกัดจากเมล็ดสะเดาช้าง (Azadirachta excelsa (Jack) Jacobs.) ในการป้องกันการดูดเลือดของยุงลาย (Aedes aegypti L.)
มนัสวี พัฒนกุล วท.บ. (เกษตรศาสตร์) Manatsawee Pattanakul B.Sc. (Agriculture)
นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาการจัดการศัตรูพืช คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม. สงขลานครินทร์ จ.สงขลา 90112
M.Sc. student in Entomology, Department of Pest Management, Faculty of Natural Resources, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkla. 90112

- PLANTS HAVING MOSQUITO REPELLENT ACTIVITY: AN ETHNOBOTANICAL SURVEY B. Pattanayak and N.K.Dhal
1. Department of Biotechnology, F.M.University , Balasore, Odisha
2. Department of Environment and Sustainability, CSIR-IMMT, Bhubaneswar, Odisha

- การศึกษาประสิทธิภาพของสมุนไพรข่าเล็กในการป้องกันยุงลายบ้านและยุงรําคาญกัด
ปริญญานิพนธ์ของ แพทย์หญิงอมลยา สุจิวรพันธ์พงศ์ เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา ตามหลักสูตรปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาตจวิทยา พฤษภาคม 2554

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้